หนังสือพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี



พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2532
ประเทศ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์
กลับไปหน้าที่แล้ว

ปริศนาดวงดาว


     พระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๘ บันทึกประสบการณ์การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส และราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๑๐-๒๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๒ เกี่ยวกับที่มาของชื่อหนังสือพระราชนิพนธ์ ได้ทรงเล่าไว้ในบทกล่าวนำ ความตอนหนึ่งว่า

     “กล่าวนำเมื่อเขียนจบ........

     ก่อนจะพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกสู่สายตาของท่านผู้อ่าน ปัญหาสุดท้ายที่เกิดขึ้นคือ จะเรียกหนังสือเล่มนี้ว่าอย่างไรดี ข้าพเจ้าได้ยินแต่ข้อวิจารณ์ของผู้พิมพ์ดีด ผู้อ่านต้นฉบับและผู้ตรวจปรู๊ฟว่า ออกจะหนักไปด้านดาวเทียม จนกระทั่งหลายตอนไม่อยู่ในความสนใจของผู้ที่ไม่มีความจำเป็นจะเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จริง ๆ แล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าได้เขียนถึงสิ่งที่ประสบพบเห็นในการเดินทางหลายแง่หลายมุม ดาวเทียมในที่นี้ เป็นดาวเทียมที่ใช้ในการสำรวจทรัพยากร เราจะไม่พูดถึงการสร้างดาวเทียมหรือการส่งดาวเทียมสู่อวกาศ จะกล่าวถึงแต่ภาพที่ได้จากดาวเทียม วิธีการในการศึกษาหาข้อมูลจากภาพนั้น นำมาเป็นเครื่องมือประกอบกับเครื่องมืออื่น ๆ เช่นตัวเลขที่ได้จากการสำรวจภาคพื้นดิน แผนที่ที่มีอยู่แล้ว ภาพถ่ายทางอากาศ เป็นต้น ช่วยให้เรารู้จักโลก พร้อมที่จะอยู่ได้โดยมีความเข้าใจยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าต้องยอมรับว่าไม่สามารถอธิบายเรื่องดาวเทียมได้กระจ่าง มีอยู่หลายตอนที่ไม่ชัดเจน อ่านแล้วอาจงงได้ (ผู้เขียนอ่านซ้ำยังงง) จึงขอตั้งชื่อหนังสือว่า “ปริศนาดวงดาว” ดาวมักจะทำให้คนเราเกิดความฉงนได้เสมอ แม้ว่าดาวในเรื่องของข้าพเจ้า จะเป็นดาวปลอมก็ตาม...”

     “ภาค ๑ ฝรั่งเศส”

     เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งจากกรุงเทพ ฯ ไปยังกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรปองเตออง (Panthéon) เป็นศาสนสถานสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ เพื่อเป็นวิหารอุทิศแด่นักบุญเจเนเวียฟ มีภาพเขียนทางศาสนาจำนวนมาก มีห้องใต้ดิน (Crypte) เป็นที่เก็บศพและสิ่งอันเป็นที่ระลึกถึงบุคคลสำคัญในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส จากนั้น เสด็จ ฯ  ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ดอร์เซ (Musée d’Orsay) เดิมเป็นสถานีรถไฟ ต่อมาจึงทำเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะศิลปะฝรั่งเศสสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ ทอดพระเนตรห้องจัดแสดงภาพเขียนยุคอิมเพรสชันนิสต์ แล้วเสด็จ ฯ ไปยังวิหารโนตเตรอดาม (Notre Dame) ซึ่งบริเวณลานหน้าวิหาร มีการขุดค้นพบร่องรอยการก่อสร้างเก่าตั้งแต่สมัยโรมันและยุคกลาง จึงจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ใต้ดินซึ่งต้องใช้เทคนิคทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมให้สามารถรับน้ำหนักถนนได้

     เสด็จ ฯ ไปยังสำนักงานเพื่อการพัฒนาการผลิตทางการเกษตร (Bureau pour le Développement de la production agricole) เป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านงานวิศวกรรมเพื่อการพัฒนาชนบท ภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการทำแผนที่ ศึกษาสิ่งแวดล้อม การใช้ภาพถ่ายทางอากาศ การทำระบบฐานข้อมูลภูมิศาสตร์ มีโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตร การใช้รีโมทเซนซิ่งในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง

     เสด็จ ฯ ไปยังหน่วยผังเมือง กระทรวงสาธารณูปการและการเคหะ  (Service Technique de l’Urbanisme, Ministère de l’Equipement et du Logement) ดำเนินงานพัฒนาความรู้ด้านเทคนิคในส่วนที่เกี่ยวกับเมือง มีโครงการต่าง ๆ ที่ใช้เทคนิคการสำรวจด้วยภาพถ่ายและการแปลภาพถ่าย เทคนิคการทำแผนที่ การศึกษาการขยายตัวของเมือง เป็นต้น จากนั้น เสด็จ ฯ ไปยังทำเนียบประธานาธิบดี (Palais de l’ Elysée) ทรงพบมาดามมิตแตรองด์ (Madame Danielle MITTERANDE) ภริยาประธานาธิบดี และเสวยพระสุธารส มาดามมิตแตรองด์จัดถวาย

     วันต่อมา ประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จ ฯ ไปยังเมืองตูลูส (Toulouse) ทอดพระเนตรกิจการของศูนย์การศึกษาอวกาศแห่งชาติ (Centre National d’Etudes Spatiales) ทรงดูงานด้านภาพถ่ายจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ทอดพระเนตรภาพโปสเตอร์ภาพถ่ายดาวเทียม SPOT บริเวณต่าง ๆ

     เสด็จ ฯ ไปยังเมืองแซง ลารี ซูลัง (Saint Lary Soulan) อยู่ในเทือกเขาปิเรเนส์ (Pyrénées หรือเทือกเขาพีเรนีสในภาษาอังกฤษ) ชายแดนสเปน เขตปิเรเนส์เป็นเขตเศรษฐกิจและมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว มีลำน้ำสำคัญคือ  La Neste ไหลมาจากภูเขา สามารถกั้นน้ำส่งไปเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมได้หลายอำเภอ  มีสถานีการเล่นสกี การส่งเสริมเอกลักษณ์ต่าง ๆ ของเขตปิเรเนส์ เช่น ผ้าขนสัตว์ของปิเรเนส์ เสด็จ ฯ ไปทรงสกี ณ สถานีสกีบนภูเขา  วันต่อมา เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังเมืองตูลูส ทอดพระเนตรการแสดงบัลเลต์ เรื่อง Don Quichotte ณ โรงละครบัลเลต์ แล้วทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรโบสถ์จาโคแบงส์ สร้างขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ในนิกายโดมินิแกง (l’Ordre des Dominicains)

     เสด็จ ฯ ไปยังสถานีรับสัญญาณดาวเทียม Aussaquel ซึ่งมีกิจการและบทบาทในโครงการดาวเทียมทั้งดาวเทียมประเภทสำรวจทรัพยากร และดาวเทียมประเภทสื่อสาร ทอดพระเนตรการรับภาพจากดาวเทียมในจอคอมพิวเตอร์และจากเรดาร์รับสัญญาณที่หมุนตามดาวเทียม เสด็จ ฯ เยี่ยมโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษา ที่เมือง Ramonville St. Agne ทอดพระเนตรการเรียนการสอนในชั้นเรียน ห้องสมุด และนิทรรศการการแต่งนิทานจากจินตนาการของเด็ก  เสด็จ ฯ ไปยังมหาวิทยาลัยปอล ซาบาติเยร์ (Paul SABATIER) เป็นมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่ตั้งชื่อตามนักวิทยาศาสตร์ชาวตูลูสผู้ได้รับรางวัลโนเบลในทางอินทรีย์เคมี เสด็จ ฯ ไปยังอาคาร Zodiac ทรงฟังการบรรยายเกี่ยวกับสถาบัน Institut de la Carte Internationale de Tapis Végétal ซึ่งดำเนินงานด้านการศึกษาปัญหาพิเศษร่วมกับหน่วยงานและประเทศต่าง ๆ เช่น การศึกษาพื้นที่ป่าชายเลนในประเทศต่าง ๆ การใช้ภาพดาวเทียมจำแนกสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ จำแนกออกมาเป็นแผนที่ การใช้รีโมทเซนซิ่งในการศึกษาพืชธรรมชาติและพืชที่ปลูกในเขตร้อน เป็นต้น

     เสด็จ ฯ ไปยังวิทยาลัยเกษตรกรรม Purpan อยู่ทางตะวันตกของตูลูส เป็นสถาบันเอกชนที่ร่วมกันก่อตั้งโดยเจ้าของฟาร์มในเขตตูลูส มีการเรียนการสอนเน้นในเรื่องเกษตรและวิชาการที่เกี่ยวข้อง และทำงานประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินโครงการของสถาบัน เช่น โครงการสหกรณ์ พัฒนาโปรแกรม GIS ใช้ภาพดาวเทียมในการศึกษาพื้นที่เกษตร ผลกระทบของน้ำท่วม เสด็จ ฯ ไปยังสถาบันวิจัยเกษตร INRA (Institut Nationale de la Recherche Agronomique) ทอดพระเนตรสถานีปศุสัตว์ ซึ่งมีโครงการเพิ่มผลผลิตลูกแกะที่ดี ศูนย์วิจัย ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา ทำการวิจัยในเรื่องผลผลิตการเกษตร

     เสด็จ ฯ ไปยังโบสถ์แซงต์แซร์แนง (La Basilique Saint Sernin) สร้างขึ้นเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ และมีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง เสด็จ ฯ ไปทรงเยี่ยมโรงเรียนมัธยมสหศึกษา Lycée Saint Sernin เป็นโรงเรียนที่สอนในด้านรีโมทเซนซิ่งระดับมัธยมศึกษา อาทิ วิธีการใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล การศึกษาพื้นที่จริงเพื่อให้รู้จักสภาพธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ พืชเกษตร การติดตามการเพาะปลูก เป็นต้น ต่อจากนั้น เสด็จ ฯ ไปยังวิทยาลัยครู (Ecole Normale) ที่ทำการสอนวิชาครูสำหรับเด็กปกติระดับอนุบาลถึงประถม และยังสอนวิชาครูสำหรับเด็กพิการ จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงปารีส

     เสด็จ ฯ ไปยังห้าง SELMER เป็นร้านของบริษัทผลิตเครื่องดนตรีที่เก่าแก่และมีชื่อเสียง เสด็จ ฯ ไปยังสำนักงานสำนักข่าวฝรั่งเศส (Agence France Presse – AFP) ทอดพระเนตรกิจการของสำนักพิมพ์ที่ส่งข่าวสารที่น่าสนใจไปถึงคนทั่วโลกในเวลารวดเร็ว ต่อมา เสด็จ ฯ ไปยังพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ซึ่งที่ตั้งของพระราชวังลูฟร์ เดิมเป็นวังของพระเจ้าฟิลิปป์ ออกุสต์ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้สอยหลายอย่าง ตั้งแต่เป็นวัง เป็นค่ายทหาร คุก โรงเรียน สถาบันวิชาการ ที่ทำการรัฐบาล จนเป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน ทอดพระเนตรอาคารใหม่ส่วนขยายเป็นปิรามิดแก้ว ในบริเวณลานนโปเลออง ทรงฟังการบรรยายเรื่องการขุดค้นรากฐานของลูฟร์อันเป็นส่วนที่สร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓  จากนั้น ทรงพระดำเนินทอดพระเนตรร้านหนังสือเล็ก ๆ ริมแม่น้ำแซน

     เสด็จ ฯ ไปยังสถาบัน IGN (Institut Géographique National) ที่เมืองแซงต์ มองเด (Saint Mandé) นอกกรุงปารีส เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านการทำแผนที่ ในช่วงบ่าย เสด็จ ฯ ไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ทรงรับการทูลเกล้า ฯ ถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ Palmes Académiques เพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงเป็นผู้ที่มีส่วนในการสร้างความเข้าใจและเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสและไทยในด้านวิชาการ จากนั้น เสด็จ ฯ ไปยัง Bureau Central des Etudes d’ Outre-Mer - BCEOM  เป็นหน่วยงานวิศวกรรมจัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๙ เชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เช่น การจัดการที่ดิน การวางแผนคมนาคมขนส่ง เป็นต้น เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตร La Defense โครงการเมืองธุรกิจใหญ่แห่งใหม่นอกปารีสไปทางเขตเนยยี (Neuilly) ซึ่งเป็นชานเมืองของปารีส และอนุญาตให้มีการปลูกสร้างอาคารสูงได้  เสด็จ ฯ ไปยังกระทรวงวิจัยและเทคโนโลยี ที่รับผิดชอบงานวิจัยด้านเกษตร พลังงาน วิทยาศาสตร์สุขภาพ การสำรวจ และอื่น ๆ

     “ภาค ๒ เนเธอร์แลนด์” 

     เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งจากกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ไปยังนครอัมสเตอร์ดัม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เสด็จ ฯ ไปยังพระราชวังนอทเอน (Noordeinde) กรุงเฮก ซึ่งเป็นที่ประทับ

     เสด็จ ฯ ไปยังเมืองเดลฟท์ (Delft) ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์  Hui Lambert van Meerten พิพิธภัณฑ์  Het Prinsenhof โบสถ์ New Church ซึ่งเป็นสุสานหลวง เป็นที่ฝังพระบรมศพและพระศพของกษัตริย์และพระราชวงศ์หลายพระองค์ จากนั้น เสด็จ ฯ ไปยังเมืองเลเดน (Leiden) ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ Rijksmuseum van Oudhedon จัดแสดงประวัติศาสตร์ของประเทศตั้งแต่ยุคโบราณ  ในช่วงค่ำ เสด็จ ฯ ไปเฝ้าสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ พระราชวังนอทเอน และทรงรับพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ

     เสด็จ  ฯ ไปยังบริเวณ Delta Region ทอดพระเนตรโครงการควบคุมน้ำทะเลชายฝั่งโดยการกั้นเขื่อน เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรตลาดประมูลดอกไม้ที่อัลส์เมียร์ (Aalsmeer) ซึ่งเป็นสถานที่ประมูลดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในด้านการผลิตไม้ดอกและไม้ประดับของโลก และในด้านการจำหน่ายดอกไม้ทั้งที่ผลิตในประเทศและที่ซื้อจากต่างประเทศมาขายต่อ

     เสด็จ ฯ ไปยังเมือง Enschede เพื่อทรงเข้าร่วมการการอบรมเป็นระยะเวลา ๓ วัน ณ สถาบันไอทีซี (International Institute for Aerospace Survey and Earth Science - ITC) ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านการจัดหลักสูตรด้านสำรวจ การจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

     เสด็จ ฯ ไปยังเมือง Wageningen ซึ่งเป็นแหล่งการศึกษาเกี่ยวกับชนบท มีศูนย์วิจัยการเกษตรหลายแห่ง เสด็จ ฯ ไปยังสถาบัน  International Soil Reference and Information Centre – ISRIC ทอดพระเนตรงานด้านการศึกษาสภาพดินทั่วโลก ต่อจากนั้น เสด็จ ฯ ไปยัง Staring Building ทรงฟังการบรรยายทางวิชาการ อาทิ เรื่องการจำแนกข้อมูลที่ดินในเนเธอร์แลนด์ เรื่องการใช้รีโมทเซนซิ่งในการจัดการน้ำและการวางแผนการใช้ที่ดิน เป็นต้น จากนั้น ประทับรถไฟพระที่นั่งขบวนพิเศษ สมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งเนเธอร์แลนด์พระราชทาน เสด็จพระราชดำเนินจากสถานีรถไฟ Wolfheze ไปยังสถานีรถไฟ Gare du Nord กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม